ม.มหาสารคาม นำผลงานวิจัยมาอบรมให้สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด กลุ่มเกษตรกรโคนมต้นแบบ เซียนโคกก่อ แดรี่ อะคาเดมี่

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 ที่ “จะโนรัตน์ฟาร์ม” บ้านแก่นเท่า อ.บรบือ จ.มหาสารคาม รศ.ดร.อภินันท์ อุรโสภณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ รศ.ดร.อาณัติ จันทร์ถิระติกุล สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับฝ่ายส่งเสริมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ไดกำลังอบรมการใช้เครื่องบันทึกปริมาณน้ำนมโคอัตโนมัติ และเครื่องวัดจังหวะการดูดและคลายของเครื่องรีดนมโค ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ซึ่งมาจากการสำรวจปัญหาของเกษตรกรในกลุ่มเซียนโคกก่อ แดรี่ อะคาเดมี่ ของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อจำกัด จำนวน 10 ฟาร์ม โดยการอบรมการใช้เครื่องบันทึกปริมาณน้ำนมโคอัตโนมัติ เพื่อนำข้อมูลน้ำนมโครายตัวที่ได้ปรับปรุงกระบวนการจัดการเลี้ยงโคนมและการผลิตน้ำนมดิบของแม่โคต่อตัวต่อวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตของฟาร์มโคนม จากค่าเฉลี่ย 10 กิโลกรัม ต่อ ตัว ต่อวัน ให้เป็น 15 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน

ส่วนการอบรมการใช้เครื่องวัดจังหวะการดูดและคลายของตัวตรวจจับจังหวะ (Pulsator)  ของเครื่องรีดนม เพื่อให้เครื่องรีดนมและกระบวนการรีดนมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามค่ามาตรฐานการทำงาน เพื่อให้แม่โครีดนม ไม่เจ็บหรือเครียดจากเครื่องรีดนมที่ไม่มีเครื่องตรวจสอบจังหวะรีดนมเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง หลังจากการอบรมสมาชิกโคนม ต้นแบบ 10 ฟาร์มแล้ว ได้มีการส่งมอบเครื่องบันทึกข้อมูลน้ำนมโคนมรายตัวอัตโนมัติ จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องวัดจังหวะการดูดและคลายของเครื่องรีดนม จำนวน 10 เครื่อง ให้แก่สมาชิกต้นแบบของ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ซึ่งผลงานวิจัยอุปกรณ์ทั้ง 2 ชุด  หากสั่งซื้อเอง จะมีราคาสูงหลักหมื่นบาท แต่งานวิจัยทั้ง 2 ชุด  มีต้นทุนเพียงเครื่องละ 3,000-5,000 บาท  ทำให้เกษตรกรโคนมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนเองได้

รศ.ดร.อภินันท์ อุรโสภณ กล่าวว่า เครื่องวัดจังหวะการรีด PULSATORTESTER ใช้สำหรับวัด แรงสุญญากาศ วัดจังหวะการรีด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมค่าให้อยู่ภายใต้ค่ามาตรฐาน แรงสุญญากาศ 40-45 kPa, จังหวะการรีด 60 ครั้ง/นาที ส่วนเครื่องวัดปริมาณน้ำนมโค หลักการคือการชั่งน้ำหนัก โดยการวัดปริมาณและเก็บสถิติน้ำนมโคเป็นรายตัว ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญของการเก็บข้อมูลการเลี้ยงโคนม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ จะไม่ช่างน้ำหนักน้ำนมโคทุกตัวเพราะยุ่งยากและเสียเวลา จึงมองข้ามเพราะต้องการที่จะลดความยุ่งยาก  แต่ถ้าเกษตรกรมีอุปกรณ์เครื่องนี้ จะสามารถเก็บสถิติแล้วนำมาวิเคราะห์การจัดการอาหารโคนม และสามารถช่วยให้ทราบข้อมูลหลายอย่าง เช่น ปัญหาสุขภาพของโคนม ,การผสมสูตรให้อาหารโคนมหรืออาหารเสริมที่ถูกต้อง และใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกสายพันธุ์ ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เกษตรมีผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น  เพื่อสร้างความมั่นคงแชะยั่งยืนในอาชีพโคนม ต่อไป

Comments are closed.
Translate »